วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

มีทฤษฎีอะไรบ้างที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ และแต่ละทฤษฎีเป็นอย่างไร

กันยา สุวรรณแสง (2532: 173) กล่าวว่า ทฤษฎีการเรียนรู้ เป็นทฤษฎีที่อธิบายถึงกระบวนการ วิธีการ และเงื่อนไขที่จะทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นมา และกล่าวถึงสภาพของสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการเรียนรู้ของคนเรา


Robert C. Craig (1967: 21 - 82) กล่าวถึง ทฤษฎีการเรียนรู้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

1. กลุ่มทฤษฎีการสร้างความสัมพันธ์ต่อเนื่อง

2. กลุ่มทฤษฎีการเรียนรู้ความเข้าใจ

มาลินี จุฑะรพ (2539: 81) กล่าวว่า ทฤษฎีการเรียนรู้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. กลุ่มทฤษฎีเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง

2. กลุ่มทฤษฎีการวางเงื่อนไข

3. กลุ่มทฤษฎีสนาม



ทฤษฎีการเรียนรู้แบบต่อเนื่อง

Edward Lee Thorndike นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเป็นผู้ตั้งทฤษฎีนี้ ซึ่งมีหลักการว่า การเรียนรู้เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองโดยสิ่งเร้าสิ่งหนึ่ง อาจจะทำให้เกิดการตอบสนองได้หลายทาง แต่อินทรีย์จะเลือกตอบสนองที่พอใจที่สุดไว้เพียงหนึ่งเดียว เพื่อใช้ในการตอบสนองครั้งต่อๆไป หรืออาจกล่าวได้ว่าการเรียนรู้เกิดจากการลองถูกลองผิด (Trial and Error)

ทฤษฎีการเชื่อมโยงของกัทธรี

E.R. Guthrie นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเป็นผู้ตั้งทฤษฎีนี้ ซึ่งมีหลักการว่า “การเรียนรู้เกิดจากการกระทำ คือ มีความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองที่เข้าคู่กันได้ในลักษณะที่มีการกระทำหรือสัมผัสไม่น้อยกว่าครั้งหนึ่ง (One-Trial Learning) ก็เกิดการเรียนรู้ได้”

ทฤษฎีการเชื่อมโยงของฮัลล์

Clark L. Hull นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเป็นผู้ตั้งทฤษฎีนี้ ซึ่งมีหลักการว่า “การเรียนรู้เกิดจากการเสริมแรง การเสริมแรงเป็นการให้รางวัล เพื่อก่อให้เกิดการลดแรงขับหรือลดความต้องการลง ทำให้บุคคลเกิดการเรียนรู้ขึ้น”

ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค

Ivan P Pavlov นักจิตวิทยาชาวรัสเซีย เป็นผู้ตั้งทฤษฎีนี้ ซึ่งมีหลักการว่า “การเรียนรู้เกิดจาก

การที่อินทรีย์ได้รับการตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้หลายๆชนิด โดยที่การตอบสนองอย่างเดียวกัน อาจมาจากสิ่งเร้าต่างชนิดกันได้ หากมีการวางเงื่อนไขที่แน่นแฟ้นเพียงพอ”





ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ

Burrhus F. skinner นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นผู้ตั้งทฤษฎีนี้ ซึ่งมีหลักการว่า “การเรียนรู้เกิดจากการที่บุคคลได้มีการกระทำแล้วได้รับการเสริมแรง

ทฤษฎีสนาม

Wolfgang Kohler, Max Wertheimer, Kurt Koffka นักจิตวิทยาชาวเยอรมันนีเป็นผู้ก่อตั้งทฤษฎีนี้ ซึ่งมีหลักการว่า “ในการเรียนรู้หรือในการแก้ปัญหาบุคคลจะพิจารณาสิ่งเร้าหรือโครงสร้างของปัญหาโดยส่วนรวมทุกแง่ทุกมุมเสียก่อน จากนั้นจะแยกเป็นส่วนย่อยๆ เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อยๆ เหล่านั้น จนในที่สุดจะเกิดความคิดหรือเห็นช่องทางในการแก้ปัญหานั้นได้โดยฉับพลัน จะเกิดการเรียนรู้ได้อย่างเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง หรือเกิดการหยั่งเห็นหรือที่เรียนว่า พิปัสญาณ (Insigh)”

ทฤษฎีการเรียนรู้ของเลวิน

Kurt Lewin, 1947 นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเป็นผู้ตั้งทฤษฎีนี้ ซึ่งมีหลักการว่า “การเรียนรู้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงความรู้ ความเข้าใจเดิมหรือเกิดจากการกระทำซ้ำๆ หรือได้มีการแก้ปัญหา หรือมีการเปลี่ยนการจูงใจ ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง”

ทฤษฎีการเรียนรู้ของทอลแมน

Edward C. Tolman, 1959 นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเป็นผู้ตั้งทฤษฎีนี้ ซึ่งมีหลักการว่า “การเรียนรู้เกิดจากการที่บุคคลตอบสนองต่อสิ่งเร้า โดยใช้เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เป็นแนวทางนำไปสู่เป้าหมาย ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างเข้าใจ”



สรุป ทฤษฎีการเรียนรู้มีหลายทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีการเรียนรู้แบบต่อเนื่อง ทฤษฎีการเชื่อมโยงของกัทธรี ทฤษฎีการเชื่อมโยงของฮัลล์ ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ ทฤษฎีสนาม ทฤษฎีการเรียนรู้ของเลวิน ทฤษฎีการเรียนรู้ของทอลแมน

บรรณานุกรม


       กันยา สุวรรณแสง.จิตวิทยาทั่วไป กรุงเทพมหานคร : คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2532.

      Robert C. Craig, The Psychology of Learning in the Classroom ( N.Y. : The Macmillan Co., 1967)

       มาลินี จุฑะรพ. จิตวิทยาการเรียนการสอน กรุงเทพฯ ภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว สถาบันราชภัฏ สวนสุนันทา, 2539

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น